ภัยจากบุหรี่




อันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ

การที่เรารับรู้ข้อมูลข้างซองบุหรี่และรูปที่น่ากลัว ไม่ได้เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ ทว่า เป็นเรื่องจริง ที่การสูบบุหรี่นั้น เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา

    •    การสูบบุหรี่ ทำอันตรายต่ออวัยวะทุกส่วนของร่างกาย และเป็นสาเหตุของโรคนานาชนิด และทำให้เราอายุสั้นลง
    •    การเลิกบุหรี่ มีผลทันทีและมีผลในระยะยาว คือ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ และทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น
    •    การสูบบุหรี่ ก่อให้เกิดโรคตามมา ดังต่อไปนี้
    ◦    โรคถุงลมโป่งพอง
    ◦    โรคลูคีเมียกระดูกเฉียบพลัน
    ◦    มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ลำคอ หลอดอาหาร ไต กล่องเสียง ปอด ช่องปาก ช่องท้อง และมะเร็งตับ
    ◦    ต้อกระจก
    ◦    การอุดตันของเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ และโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับหัวใจและเลือด
    ◦    เยื่อหุ้มฟันอักเสบ
    ◦    โรคปอดบวม และเรื้อรัง
    ◦    ทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้ หรือแท้งบุตร
การสูบบุหรี่กับเอชไอวี

ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี จำเป็นต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ให้มาก เพราะการสูบบุหรี่สามารถทำอันตรายกับปอด และการทำงานของปอด ทั้งในผู้ที่แข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีนั้น ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อร้ายแรงใดๆ ได้ แม้ปัจจุบันนี้ ผู้มีเชื้อเอชไอวีจะสามารถมีชีวิตยืนยาวได้ แต่หากสูบบุหรี่ ก็จะนำมาซึ่งปัญหาทางสุขภาพ และบั่นทอนชีวิต

การสูบบุหรี่ จะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้ยากต่อการจะสู้กับโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับโรคติดเชื้อที่ปอดด้วยแล้ว และการสูบบุหรี่หรือกัญชาก็ส่งผลกระทบเหมือนกัน การมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายจะยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคปอดเรื้อรัง และยังขัดขวางการทำงานของยาต้านไวรัสที่ตับ อันนำไปสู่โรคตับ เช่นไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่มีเชื้อย่อมได้รับผลกระทบจากบุหรี่โดยตรงกว่าผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี ตัวอย่างง่ายๆ คือ ถ้ามีเชื้อเอชไอวีแล้วไปสูบบุหรี่ ก็ยิ่งจะรู้สึกคลื่นไส้และอาเจียนจากการทานยาต้านไวรัส

นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงและผลข้างเคียงระยะยาวต่อเชื้อเอชไอวีและการรักษา โดยรวมไปถึง ภาวะกระดูกกร่อนหรือกระดูกตาย และการรักษาเชื้อเอชไอวีก็จะค่อยๆ ทำให้เกิดโรคหัวใจล้มเหลวตามมา แต่การสูบบุหรี่จะยิ่งไปเร่งให้เกิดโรคหัวใจล้มเหลวเร็วขึ้น จากการศึกษาพบว่า การเลิกบุหรี่จะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจในกลุ่มผู้มีเชื้อเอชไอวีมากกว่าการเพิ่มยาต้านไวรัสเสียอีก
มาเลิกบุหรี่กันเถอะ

หากคุณคือหนึ่งในผู้ท่ีอยากเลิกบุหรี่ล่ะก็ ลองทำตามคำแนะนำนี้ดู
  1. เมื่อคิดจะเลิกก็ต้องแข็งใจ อย่าสูบบุหรี่ทุกชนิด แม้การสูบวันละมวนสองมวน ก็สามารถทำร้ายเราได้ ถ้าคุณลองวิธีวันละมวนแต่ไม่เลิกขาด ไม่นานคุณก็จะกลับไปสูบในจำนวนเท่าเดิมอยู่ดี ส่วนการสูบแบบนิโคตินน้อย ก็ให้ผลพอๆ กันคือ นิโคตินยังไงก็ติด ถึงคุณจะสูบแบบน้อย แต่เล่นสูบอย่างแรงและบ่อยขึ้น ก็ไม่ได้ผลอีก ทางที่ดีคือ เลิกไปเลยทีเดียวจะดีกว่า
     
  2. เขียนลงบันทึกว่า ทำไมคุณถึงอยากเลิกบุหรี่ เพราะคุณอยากจะ
    - รู้สึกใจแข็ง และคุมชีวิตตัวเองได้ใช่หรือไม่
    - มีสุขภาพที่ดีขึ้น
    - เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกๆ
    - ปกป้องครอบครัวของคุณจากการที่จะต้องสูดดมควันไปกับคุณทุกวันและถ้าอยากจะเลิกจริงๆ ก็ต้องลองเลิกลอกจากชั่วโมงนึงวันนึง ก็ได้ พยายามหาเหตุผลที่จะเลิก ก่อนจะสายเกินไป
     
  3. ให้รู้และตระหนักว่า การเลิกบุหรี่ จำต้องใช้ความพยายาม เพราะการที่เราสูบนิโคตินเข้าไปทุกวันจนเป็นนิสัยมันก็เลิกยากอยูู่ เพราะครึ่งหนึ่งของกระบวนการเลิกบุหรี่นั้น คือการที่เรารู้ตัวเองว่าเราต้องการที่จะเลิกจริงๆ สิ่งนี้แหละจะเป็นตัวช่วยให้เราสู้กับอาการอยากต่างๆ ที่จะตามมา เช่น อารมณ์เสีย หงุดหงิด และอยากสูบมากๆ ลองใช้อุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่ดูก็ได้ เช่น หมากฝรั่งหรือติดแพ็ดเลิกบุหรี่ โดยปกติคนที่สูบบุหรี่ทั้งหลายจะรู้สึกว่าสารนิโคตินจะค่อยๆ ถอนออกเมื่อเราพยายามเลิกบุหรี่ ลองให้เวลาสักเดือนในการตัดความรู้สึกอยาก และหงุดหงิด
     
  4. ครึ่งหนึ่งของผู้ที่สูบบุหรี่ เขาเลิกกันได้ เพราะฉะนั้น คุณก็ย่อมทำได้ และข่าวดีอีกอย่างคือ มีคนกว่าล้านคนที่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้เพราะเขาเรียนรู้ที่จะอยู่โดยไม่มีบุหรี่ และมีสุขภาพดีชีวิตยืนยาว
     
  5. มองหาความช่วยเหลือ หากคุณต้องการ เช่นการเข้ากลุ่มบำบัด หรือโทรสายด่วน แม้แต่คุณหมอประจำของคุณก็น่าจะเป็นที่ปรึกษาที่ดีต่อการเลิกบุหรี่ของคุณ
5 ปัจจัยในการเลิกบุหรี่
1. เตรียมความพร้อม
    - กำหนดวันที่จะเลิกไว้เลย
    - เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมรอบเดิมๆ คือ ทิ้งบุหรี่และซอง แม้กระทั่ง ที่เขี่ยบุหรี่ออกจากห้อง รถ และที่ทำงานของคุณ และก็อย่าให้ใครมาสูบบุหรี่ภายในบ้าน

2. มองหากำลังใจ
สิ่งสำคัญคือ คุณมีโอกาสจะเลิกขาดได้ หากคุณมีตัวช่วย ในหลายๆ ทางดังนี้
    - บอกครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ว่าคุณกำลังจะเลิกบุหรี่ และต้องการความช่วยเหลือและกำลังใจจากพวกเขา ขอให้เขาไปสูบไกลๆ และอย่าเอาบุหรี่มาให้เห็น
    - คุยกับบุคคลที่ให้คำปรึกษาเรื่องการเลิกบุหรี่ได้ เช่น คุณหมอ ทันตแพทย์ พยาบาล สายด่วนให้คำปรึกษา
    - ลองเข้ากลุ่มบำบัด ลองโทรหาสายด่วน การหาคำปรึกษาแบบนี้จะช่วยได้มาก

3. เรียนรู้ทักษะและพฤติกรรมใหม่ๆ
    - ลองหันความสนใจจากบุหรี่ไปสู่สิ่งอื่น ออกไปเดินเล่น หรือพยายามทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้
    - เมื่อคุณได้ลองพยายามเลิกดูแล้ว ก็ให้พยายามเปลี่ยนนิสัยไปด้วย ลองเปลี่ยนเส้นทางการไปทำงาน หรือเปลี่ยนจากดื่มกาแฟเป็นชาแทน
    - หาอะไรทำแก้เครียด ออกกำลังกาย หรืออ่านหนังสือธรรมะก็ได้
    - วางแผนให้ชีวิตมีอะไรสนุกๆ ทำทุกวัน
    - ดื่มน้ำเยอะๆ

4. ลองทานยาเลิกบุหรี่ดู และต้องทานให้ถูกต้องล่ะ
    ยาบางชนิดสามารถช่วยคุณละความอยากจากบุหรี่ได้ ยาเกือบทุกชนิดสามารถให้ผลในการเลิกบุหรี่ได้ ยกเว้น ผู้หญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีไม่ควรทาน

5. เตรียมพร้อมกับความล้มเหลว และสถานการณ์ยากที่คุณคาดไม่ถึง
ส่วนมาก ความล้มเหลวของการเลิกจะมาในเวลา 3 เดือนแรกหลังจากเลิกไปแล้ว อย่าตกใจถ้าคุณหันไปสูบอีกครั้ง เพียงแต่จำไว้ว่า หลายคนลองเลิกหลายต่อหลายครั้งกว่าจะเลิกขาดได้จริงๆ และข้อมูลต่อไปนี้คือสถานการณ์ยากที่คุณอาจต้องเจอ
    - แอลกอฮอล์ พยายามหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมันจะลดโอกาสแห่งความสำเร็จในความพยายามของคุณ
    - เพื่อนนักสูบรอบตัวคุณ เพื่อนที่คอยวนเวียนยืนสูบเคียงข้าง และทำให้คุณอยากจะสูบขึ้นมาทันที
    - น้ำหนักเพิ่ม หลายคนมักเผชิญกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเมื่อเลิกสูบบุหรี่ แต่ส่วนมากจะน้อยกว่า 8 กิโลกรัม พยายามควบคุมอาหาร และแอคทีฟอยู่เสมอ อย่าให้น้ำหนักตัวที่เพิ่มมาบั่นทอนความพยายามของคุณ
    - อารมณ์เสียและความเครียด ยังมีวิธีการลดความเครียดอีกมากมาย ทานยาก็ช่วยแก้เครียดได้
และถ้าคุณต้องประสบกับสถานการณ์ยากเหล่านี้ ก็ควรหันไปปรึกษาแพทย์หรือสายด่วนก็ช่วยได้เช่นกัน

เงื่อนไขพิเศษ
บางที การมีเงื่อนไขในชีวิตเพิ่มขึ้น ก็ช่วยให้เราเลือกบุหรี่ได้
- ตั้งครรภ์ หรือเป็นคุณแม่ เพราะเราย่อมไม่อยากทำร้ายลูกอยู่แล้ว
- ป่วยเข้าโรงพยาบาล
- คนไข้โรคหัวใจ
- เป็นมะเร็งปอด คอ
- เป็นพ่อเป็นแม่คน